

บทเรียน
เฮอร์มานน์ เฮสเส เขียน
สดใส แปล
๒๘๐ หน้า ราคา ๓๒๐ บาท
พิมพ์ครั้งที่ ๕ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
__________
บทเรียน (The Prodigy) นวนิยายของ เฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนรางวัลโนเบล ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๑๙๐๖ นวนิยายเรื่องนี้พรรณนาให้เห็นธรรมชาติอันงดงาม สะท้อนให้เห็นชีวประวัติส่วนหนึ่งของแฮสเส เนื่องจากเขาเคยถูกพ่อแม่เคี่ยวเข็ญให้เข้าเรียนในวิทยาลัย แต่เฮสเสกลับต่อต้านการเรียนในระบบทุกวิถีทาง จนพ่อแม่เลิกล้มความพยายามในที่สุด นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนการศึกษาในอดีตของเยอรมนี แม้ระยะเวลาจะผ่านมากว่าร้อยปี ก็ยังสะท้อนผลของการศึกษาได้ทุกยุคทุกสมัย
ฮันส์ กีเบนราธ เด็กน้อยที่มีปัญญาเปรื่องปราดฉลาดนด้านวิชาการ เติบโตในชนบทเล็ก ๆ แห่งแคว้นสวาเบีย จังหวัดวูร์เต็มเบิร์ก เคยมีชีวิตสนุกกับการตกปลา เดินป่าและว่ายน้ำ อาศัยอยู่กับพ่อสองคน นายกีเบนราธผู้เป็นพ่อ ขีดเส้นทางเดินให้ฮันส์ต้องอยู่ในกรอบที่เขาวางแผนอนาคตไว้ ให้ฮันส์กวดวิชาและเรียนพิเศษกับพระประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ฮันส์สอบเข้าเรียนศานวิทยาลัยโปรเตสแตนต์ที่มีชื่อเสียงของประเทศ จากเด็กที่เคยใช้ชีวิตสนุกสนานรื่นรมย์ไปกับธรรมชาติ ค่อย ๆ ถูกยัดเยียดความทะเยอทะยานเพื่ออนาคตที่ผู้ใหญ่วาดหวัง เมื่อเขาเข้าเรียนในศาสนวิทยาลัย ชีวิตของฮันส์เริ่มเปลี่ยนไป การแข่งขันในการเรียนเข้ามาแทนที่ เขาต้องอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อการท่องจำบทเรียน วันเวลาล่วงผ่าน ในวิทยาลัยฮันส์มีเพื่อนติวหนังสือหลายคน หนึ่งในนั้นคือ เฮอร์มานน์ เฮลเนอร์ เพื่อนที่ไม่เหมือนใคร ผู้ทำให้ชีวิตฮันส์เปลี่ยนไป จากเด็กหน้าห้องที่ครูทั้งวิทยาลัยยอมรับ กลับเปลี่ยนเป็นหลังมือ จนท้ายที่สุดฮันส์ถูกส่งตัวกลับบ้าน และพบกับโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด
นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอชีวิตของฮันส์ เด็กน้อยที่มีชีวิตสิ้นหวัง จิตวิญญาณของฮันส์ถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จากความคาดหวังของผู้ใหญ่ ไม่มีใครสักคนที่รับฟังและให้ฮันส์ใช้ชีวิตตามวัยที่ควรจะเป็น คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การศึกษาในบ้านเราต่างก็มุ่งไปที่การแข่งขันเพื่อชัยชนะ ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ในบ้านเรา ต่างมีส่วนและยัดเยียดความสำเร็จให้กับลูกหลานของตนจนกลายเป็นค่านิยม เด็กต้องเรียนเก่ง จะเรียนเก่งได้ต้องเรียนพิเศษกวดวิชา เพื่อประสบความสำเร็จ ชีวิตของฮันส์จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีต่อระบบการศึกษาในปัจจุบัน
สารัตถะของนวนิยายเรื่องนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เด็กควรได้เติบโตตามวัยและมีชีวิตอันสดใส หากเด็กได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้เรียนรู้สรรพสิ่งรายล้อม สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้หัวใจและจิตวิญญาณของวัยเยาว์อ่อนโยนและเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดบนโลกใบนี้
“เมื่อต้นไม้ถูกตัดยอด มันจะแยกแขนงใหม่ที่โคนฉันใด วิญญาณมนุษย์เมื่อถูกทำลายในวัยเริ่มผลิบาน ย่อมหาทางกลับสู่จุดเริ่มแรกของฤดูใบไม้ผลิแห่งชีวิตฉันนั้น นั่นคือการดิ้นรนกลับสู่วัยเยาว์ที่ผ่านมา ราวกับจะได้พบความหวังใหม่ที่นั่น และได้ต่อสายใยที่ขาดสะบั้นนั้นแล้วอีกครั้งหนึ่ง แม้รากแขนงที่แตกใหม่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว อุดมด้วยน้ำเลี้ยง แต่มันก็เป็นไปได้เพียงส่วนที่คล้ายคลึงของชีวิต ไม่มีวันกลับเป็นต้นไม้สมบูรณ์ได้อีกเลย” (หน้ ๑๘๑)