บทคัดย่อ
บทความเรื่อง พระยาคันคาก : อัปลักษณ์อำพรางกับการลดทอนอำนาจและสัญญะในการสื่อความหมาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นของกลุ่มวัฒนธรรมอีสาน – ล้านช้างเรื่องพระยาคันคาก ฉบับการปริวรรติของพระอริยานุวัตร เขมจารี ผลการศึกษาพบว่า 1. พระยาคันคากมีการซ่อนและอำพรางตัวตัวเองผ่านรูปร่างที่อัปลักษณ์เพื่อความปลอดภัย จนนำไปสู่การตอกย้ำซ้ำความผลิตซ้ำในมายาคติความงามต่อทัศนคติและการเลือกปฏิบัติต่อพระยาคันคาก 2. การสื่อความหมายทางสัญญะของพระยาคันคากและพระยาแถนกับการต่อสู้และต่อรอง ลดทอนอำนาจของพระยาแถน เป็นการผลิตซ้ำทางความคิดเรื่องการต่อสู้จากอำนาจชนชั้นปกครองที่ไม่เหมาะสม เมื่อใดที่ถูกกดขี่จากอำนาจที่ไม่เหมาะสม ผู้คนในสังคมก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
คำสำคัญ : พระยาคันคาก, สัญญะ, การสื่อความหมาย, การลดทอนอำนาจ
บทนำ
ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมอันรุ่งเรืองมาแต่อดีตอย่างช้านาน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่กลั่นกรองมาอย่างยาวนานจนกระทั่งส่งผ่านออกมาในรูปแบบของวรรณกรรมในประเภทต่าง ๆ มีวรรณกรรมท้องถิ่นจำนวนมาก ทั้งวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะ และวรรณกรรมลายลักษณ์ ที่จารลงในใบลาน ซึ่งในวรรณกรรมลายลักษณ์นั้น อักษรที่ใช้จารนิยมใช้อักษรไทยน้อยหรือที่ลาวเรียกว่าอักษรลาวเดิม อักษรธรรมอีสาน และอักษรขอม วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่รังสรรค์ขึ้นโดยปราชญ์ของหมู่บ้านหรือชุมชนในสมัยก่อน แหล่งการเรียนรู้ของชุมชนในสมัยนั้นก็คือวัด นักปราชญ์เหล่านั้นก็ได้เล่าเรียนวิชาในที่แห่งนี้ นั้นก็หมายถึงเกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างหรือสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จนทำให้เกิดการคัดลอกวรรณกรรมของแต่ละท้องถิ่นนั้นมาเผยแพร่ยังอีกท้องถิ่นหนึ่ง และส่งผลให้เกิดวรรณกรรมในสำนวนของแต่ละท้องถิ่นขึ้น
วรรณกรรมท้องถิ่นนั้นมีบทบาทสำคัญต่อผู้อ่านและชุมชนที่เป็นเจ้าของวรรณกรรม เพราะมีบทบาทที่จะจรรโลงใจผู้อ่านเป็นสำคัญ ซึ่งในอดีตผู้ที่สามารถอ่านตัวอักษรเหล่านี้ได้ก็เห็นจะมีแต่ผู้ที่มีความรู้ผ่านการบวชเรียนมาก่อนซึ่งเป็นส่วนน้อย สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพการเรียนรู้ในอดีตได้เป็นอย่างดี “วรรณกรรมท้องถิ่นมีบทบาทต่อผู้อ่านและชุมชนที่เป็นเจ้าของวรรณกรรมหลายประการ สังคมไทยในอดีตผู้อ่านออกเขียนได้ เป็นเพียงกลุ่มน้อยที่จำกัดในหมู่ผู้นำ พระภิกษุและผู้บวชเรียน ประชาชนทั่วไปรับรู้รสวรรณกรรมต่าง ๆ โดยการฟังจากผู้อ่านหนังสือแตก(ชำนาญการอ่าน)”
(จารุวรรณ ธรรมวัตร. 2537 : 10)
พระยาคันคากเป็นวรรณกรรมที่นิยมและแพร่หลายในภาคอีสานประเทศไทย ทั้งนี้เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในด้านการดำรงชีพที่เกี่ยวข้องกับฝนฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมามีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยทั่วไปชาวอีสานส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ไถ่นาเป็นพื้นฐาน มีผลผลิตจำกัดอยู่เฉพาะพืชเพียงไม่กี่ชนิด เพราะยังอยู่ในระบบการผลิตเพื่อยังชีพและเลี้ยงตัวเอง กล่าวคือ ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กันภายในครอบครัวเท่านั้นถ้าเหลือจึงจะนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย นอกจากการทำไร่ไถ่นาเป็นอาชีพหลักแล้ว การทำมาหากินของคนอีสานยังต้องพึ่งพาธรรมชาติแวดล้อมอยู่เนือง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมไปถึงพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่ได้โอบอุ้มชีวิตผู้คนในอีสานเรื่อยมา ในสังคมอีสานนั้นต้องพึ่งพาธรรมชาติในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก นั้นก็คือในการทำไร่ไถนาต้องรอน้ำฝนเท่านั้น รวมไปถึงลักษณะทางกายภาพทางสังคมอีสานที่รอน้ำฝน กล่าวคือสภาพพื้นที่ราบลุ่ม โคก ป่าในสังคมอีสานต้องรอให้ฝนตกเพื่อเกิดสรรพสิ่ง หรือความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อที่จะเป็นแหล่งอาหารของคนอีสานได้
วรรณกรรมเรื่องนี้อ่านสนุกให้ทั้งความรู้และความบันเทิง โดยเฉพาะตอนว่าด้วยมหาสงครามระหว่างราชาคันคากและพระยาแถนฟ้า ประพันธ์ได้สนุกเร้าใจ นอกจากนั้นยังให้ความรู้ด้านคติธรรม เช่น ความสามัคคี ประเพณี ความเชื่อ ศิลปะการดนตรี สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ และอีกหลาย ๆ ประการที่ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง ประเภทของวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นชาดกนอกนิบาต มีการกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ลงเสวยพระชาติในรูปของพระยาคันคาก และมีการประชุมชาดกหรือที่เรียกว่าม้วนชาติในตอนสุดท้าย ชาดกในกลุ่มนี้เป็นชาดกที่มีเนื่องเรื่องไม่ตรงกับนิบาตชาดก เป็นเรื่องที่ผู้แต่งชาดกสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง หรือได้แนวคิดจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง หรือเกิดจากการประสมประสานประสบการณ์ของผู้แต่ง ชาดกประเภทนี้มีทั้งที่เป็นวรรณกรรมแบบฉบับและท้องถิ่น เช่น ชาดกในปัญญาสชาดก ชาดกหลายเรื่องในคัมภีร์มหาวัสตุ และชาดกวรรณกรรมท้องถิ่น เป็นต้น (พัฒน์ เพ็งผลา. 2535 : 35)
ปัจจุบันการศึกษาวรรณคดีได้เปิดกว้างข้ามพรมแดนความรู้ โดยได้มีการนำกรอบแนวคิดและทฤษฎีร่วมสมัยทางสังคมศาสตร์มาปรับประยุกต์ใช้ในการวิจารณ์วรรณกรรมให้เห็นความเลื่อนไหลในโครงสร้างสังคม และการสื่อความในการประกอบสร้างทางความหมายที่ปรากฏในวรรณกรรมจนกลายเป็นโครงสร้างของสังคม ในบทความฉบับนี้ได้ศึกษาวรรณกรรมอีสานเรื่องพระยาคันคากสำนวนดั้งเดิมที่ปริวรรตโดยพระอริยานุวัตร เขมจารี โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างนิยม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากในโลกของวรรณคดีศึกษาและวรรณคดีวิจารณ์ในศตวรรษที่ 20 โดยผู้เขียนมองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวรรณคดี มีความหมายแฝงที่ถูกกำกับด้วยรหัสทางวรรณกรรม อาจจะประกอบด้วยรหัสสัญลักษณ์ หรือ รหัสทางวัฒนธรรม การศึกษาตามแนวทางที่กล่าวมานี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า วรรณกรรมเป็นตัวบท (text) ที่หลอมรวมวาทกรรมชุดต่าง ๆ ในท่าทีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับเพื่อผลิตซ้ำ ต่อรอง หรือแม้แต่ปฏิเสธและตอบโต้ การศึกษาตามแนวนี้ไม่ได้เพ่งเล็งที่สุนทรียภาพหรือวรรณศิลป์ของงานเท่านั้น
จากที่กล่าวมานี้ถ้ามองตามโครงสร้างนิยมจะกล่าวได้ว่า การสื่อความของสัญลักษณ์ในวรรณกรรมนั้นเป็นการผลิตซ้ำ ต่อรอง ปฏิเสธ และตอบโต้ ดำเนินไปตามโครงสร้างเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว ผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์วรรณกรรมได้ตกเป็นเหยื่อโครงสร้างทางสังคมและได้ผลิตซ้ำทางความหมายดังกล่าวเพื่อเป็นการตอกย้ำชุดความจริงที่มีอยู่ในสังคม
อัปลักษณ์,ความงาม/คันคาก,พระยาแถน : การสื่อความหมายทางสัญญะสู่การลดทอนทางอำนาจชนชั้นปกครอง ในพระยาคันคาก
เจ้าเมืองชื่อพระเจ้าเอกราช และพระมเหสี คือพระนางเทวี ครองเมืองอินทปัตด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จุติลงในครรภ์พระนางเทวี และประสูติออกมาเป็นคันคาก (คางคก) บิดามารดาไม่พอใจ แต่ก็เมตตาสงสารเลี้ยงไว้ เมื่อคันคาก เป็นหนุ่มก็อยากจะมีเมีย พระอินทร์สงสารจึงช่วยเหลือโดยเนรมิตปราสาทไว้ใจกลางเมืองอินทปัต แลอุ้มสมนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่มาไว้ในปราสาท แล้ววางคาบบุรุษหนุ่มรูปงามให้คันคากสวมใส่จนมีรูปร่างงดงาม ทั้งสองจึงได้อภิเษกกับครองเมืองอินทปัตสืบไป พระยาคันคากครองเมืองมานาน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองแห้งแล้งอดอยากพระยาคันคากสั่งให้พญานาค ครุฑ และปลวก ทำทางจากเมืองอินทปัตไปถึงเมืองแถนเป็นเวลานาน 3 ปี ใช้เวลากรีธาทัพ 1 เดือน มีกองทัพสัตว์ต่าง ๆ เช่น มอด มด เสือ นาค ครุฑ ช่วยรบด้วยจนชนะพระยาแถน พระยาคันคากชนะศึกสั่งสอนพระยาแถนให้อยู่ในศีลกินในธรรมและแต่งน้ำฝนให้ตกลงในเมืองอินทปัต แล้วเอาข้าวทิพย์เม็ดเท่ามะพร้าวไปปลูกให้เมืองมนุษย์ เสร็จแล้วเลิกทัพกลับมาเมืองอินทปัต เมืองนั้นจึงบริบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา ต่อมาชาวเมืองชมพูพากันเกียจคร้าน มิได้ทำยุ้งฉางไว้คอยรับข้าวทิพย์ เอาแต่มีดพร้าฟันเม็ดข้าว เม็ดข้าวจึงเล็กลง ดังที่เห็นในทุกวันนี้
พระยาคันคาก เป็นตัวละครที่มีลักษณะการอำพรางตัวมาตั้งแต่วัยเยาว์ มีบุคลิกหรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปช่วง ๆ ซึ่งผู้เขียนจะยกภาพเหตุการณ์อำพรางตัวของพระยาคันคากให้เห็นเป็นช่วง ๆ กล่าวคือ พระยาคันคากนั้นแรกเริ่มเดิมทีเกิดมามีลักษณะที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ พระนางเทวีผู้เป็นมารดาตั้งครรภ์แล้วประสูติลูกน้อยที่มีผิวพรรณเหมือนกับคางคก (คันคาก) หมอโหรได้ทำนายทายทักว่า พระยาคันคากนี้เป็นผู้มีบุญลงมาเกิด ในพื้นปฐพีไม่มีใครเทียมได้ ในขณะที่พระยาคันคาลงมาเกิดก็มีปรากฏการณ์ที่ประหลาดตามแบบฉบับของผู้มีบุญลงมากเกิด ลมกระโชก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ห่าฝนไหลลงสู่เมืองท่วมปฐพี แผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น น้ำในแม่น้ำเดือดพล่านสาดกระเซ็น
แต่ว่า โสภาเพี้ยง ทารกาดูหลาก
เขาหุบขาบไหว้ บาท้าวยอดเมือง
อันว่า นางเทวี ประสูตุมารน้อย
ผิวผางเนื้อ คือโสมคันคาก
(พระยาคันคาก : หน้า 3)
ในขณะเดียวกันภาพที่อัปลักษณ์ต้อยต่ำเดรัชฉานไม่เหมือนคนทั่วไปก็เป็นที่น่ารังเกียจจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คน ไม่เหมาะสมที่จะสืบราชสกุล แม้แต่พระราชบิดาของตนเองพระยาเอกราชก็ทรงอับอายมิใช่น้อยที่มีลูกเป็นคันคาก เห็นได้จากตอนที่พระยาคันคากอายุได้ 20 ปีได้ขอให้บิดาหาคู่ครองให้ แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องด้วยเหตุผลที่ว่า รูปโฉมของพระยาคันคากไม่เหมือนคนทั่วไปเป็นที่รังเกียจจึงไม่เหมาะไม่ควรที่จะมีคู่ครอง พระยาเอกราชถึงกับพูดเปรียบเทียบเปรียบเปรยไปในทางดูถูกเหยียดหยามในรูปอัปลักษณ์
อันว่า โสมเสลาแก้ว ยังเป็นคันคาก
โสมฮูปท้าว ยังเพี้ยงไป่คน ลูกเอย
อันนี้ อย่าได้กล่าวต้าน เป็นยิ่งลือสหาว พ่อนา
แนมท่อ อายชาวเมือง ซิเสียดสีหยังหย้อ
แนวโต ฮูปฮ่างฮ้าย เขียดคันคากสันใด
สังไป จาเหนี่ยงดาวเดือน ไป่ลือเทียมซ้อน
คือดั่ง เกวียนบ่สมล้อ งัวเทียมมันบ่ค่อง
คือดั่ง คนฮาบน้ำ บ่สมแท้สิเล่าคอน
(พระยาคันคาก : หน้า 4)
พระยาคันคากคงสภาพการอำพรางตัวจนกระทั่งมีเหตุการณ์จำเป็นบังคับให้ต้องถอดรูปคือ คราวที่พระยาคันคากกอยากได้คู่ครอง ได้อธิษฐานจิตต่อพระอินทร์ ถ้าตนเคยได้สร้างสมบุญบารมีมา ก็ขอให้สำเร็จดังความปรารถนาด้วยเถิด ด้วยแรงอธิษฐานทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์เกิดแข็งกระด้างขึ้น พระอินทร์ก็ได้ประทานพรให้ตามที่ขอ มีการเนรมิตสร้างปราสาทหลังใหญ่กลางเมืองอินทปัต พร้อมด้วยแก้วแหวนเงินทอง ข้าทาส บริวาร เครื่องอุปโภคบริโภคล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ปานประหนึ่งเมืองสวรรค์ หลังจากนั้นก็ได้อุ้มสมนางอุดรกุรุทวีป ก่อนที่ทั้งสองจะชิงรักหักสวาท พระอินทร์ได้ทิ้งคาบบุรุษรูปงามไว้ให้ พระยาคันคากจึงได้ถอดคาบคันคากและสวมคาบหนุ่มรูปงามแทน บุคลิกของพระยาคันคากก็เปลี่ยนไปจากสภาพเดรัชฉานอัปลักษณ์สู่บุรุษสง่างามทั้งรูปร่างหน้าตาและท่าทาง ตลอดระยะเวลา 20 ปีในคาบคันคาก เหตุการณ์นี้เป็นการสิ้นสุดการอำพรางตัวของพระยาคันคาก
ลักษณะการอำพรางตัวของพระยาคันคาก นับได้ว่าเป็นการซ่อนตัว หรือเป็นลักษณะของการสร้างบุคลิกภาพ ลักษณะการซ่อนตัวหรือการอำพรางตัวของพระยาคันคาก แตกต่างไปจากตัวละครอื่น ๆ ในวรรณกรรมนิทานของไทย ดังที่ กิ่งแก้ว อัตถากร (2519 : 1) กล่าวว่า
“พระเอกแบบวีรบุรุษนั้นก่อนที่จะมีโอกาสแสดงความเป็นวีรบุรุษอันเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป มักจะผ่านช่องแห่งการซ่อนเร้นรูปโฉม และความสามารถต่าง ๆ แม้มีดีก็เป็นอยู่ราวกับว่าไม่มีดีอย่างนั้น อาการซ่อนเร้นนี้มีอยู่ 5 ลักษณะคือ
- ซ่อนเร้นในเครื่องแต่งกายที่แปลก เช่น พระสังข์ซ่อนเร้นอยู่ในรูปของหอยสังข์ แม้จะมีเรือนร่างเป็นมนุษย์ก็จริงก็อาศัยหอยเป็นเครื่องอำพรางปิดบังเรือนรางที่แท้จริงไว้ นี้เป็นช่วงระยะวัยทารกจนถึงวัยเด็กเล็ก ต่อมาเมื่อถึงวัยรุ่นก็ซ่อนอีก คราวนี้ซ่อนอยู่ในชุดเงาะป่าจวบจนถึงวัยฉกรรจ์
- ซ่อนอยู่ในรูปสังขารอัปลักษณ์ คือเมื่อเกิดมาก็มีสังขารที่ผิดจากปกติชน หรือมิเช่นนั้นก็มีรูปสังขารเป็นสัตว์ไปเลย ภายหลังจึงได้รูปสังขารปกติกลับมา เช่น คาวี พระหลวิชัย ซึ่งเกิดมาเป็นเสือและโคตามลำดับ
3. ซ่อนอยู่ในรูปจำแลง มีรูปลักษณะปกติอย่างหนึ่งอยู่ แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นก็แปลงรูปเป็นอย่างอื่น เช่น คาวีจำแลงเป็นตุ๊กตาติดย่ามพระหลวิชัยไปแก้แค้นท้าวสันนุราช - ซ่อนในที่เร้น เช่น พระสังข์ศิลป์ชัยซ่อนตัวอยู่ในป่า พระรถซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ
5. ซ่อนในบทบาทของคนเจียม คือไม่แสดงปมเด่น ไม่โอ้อวด นับเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อม
ตนโดยเฉพาะเช่น เป็นศิษย์ เป็นทุคคตะ เป็นชาวบ้าน เป็นคนโซ เป็นคนโง่เซ่อแม้จะเกิดมาในตระกูล
สูง”
ลักษณะการอำพรางตัวของพระยาคันคากนั้นเป็นการซ่อนรูปในสังขารที่อัปลักษณ์ เป็นการซ่อนเพื่อความปลอดภัยมากกว่าสาเหตุอื่น เป็นลักษณะของตัวละครยังไม่เข้มแข็งทั้งกำลังและความสามารถ หรือยังไม่แน่ใจว่าตนเก่งกล้าเพียงพอ รูปลักษณะอันอัปลักษณ์ของคันคากนับเป็นเกราะป้องกันอันตรายเป็นอย่างดี หากว่าพระยาคันคากแสดงเรือนร่างที่แท้จริงให้ปรากฏเร็วเกินไป อาจสร้างความอิจฉาริษยา และชวนให้
ศรัตรูหาทางกำจัดตนโดยไม่รู้ตัว หรือไม่มีโอกาสสู้เขาได้ ในด้านของการเปิดเผยตัวอย่างเป็นลำดับตั้งแต่อยู่ในรูปของคันคากจนอายุได้ 20 ปี จึงถอดรูปอัปลักษณ์โดยการสวมคาบบุรุษรูปงามที่พระอินทร์ทิ้งไว้ให้เมื่อคราวอุ้มสมนางอุดรกุรุทวีป ทำให้เห็นทัศนคติ วิธีคิดและชุดความรู้ที่แฝงอยู่ในรหัสวัฒนธรรมซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชุดความจริงที่ไหลเวียนอยู่ในโครงสร้างสังคมอย่างชัดเจน และนำไปสู่กระบวนการตัดสินในข้อเปรียบเทียบระหว่างรูปอัปลักษณ์และรูปของบุรุษรูปงาม ว่าสังคมจะมองบุคลิกของตัวละครสองตัวนี้อย่างไร และก็ปรากฏได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า รหัสทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในตัวบทวรรณคดีเป็นตัวกำหนดสังคมให้เลือกที่จะยอมรับรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่ารูปลักษณ์ภายใน กล่าวคือ รูปอัปลักษณ์คันคากเป็นเดรัชฉานที่ ต้อยต่ำ ไม่มีอารยะ วัฒนธรรม จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบจนกระทั่งถูกสังคมอารยะตราหน้าผลักออกจากกลุ่มให้กลายเป็นอื่นไป เห็นได้จากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ปรากฏในตัวบทวรรณคดีเรื่องพระยาคันคากที่ได้ดูถูกในรูปอัปลักษณ์เดรัชฉานสัตว์ผู้ต่ำต้อย ตัวอย่างเช่น ตอนกำเนิดพระยาคันคาก รูปลักษณ์ที่ปรากกฎไม่เหมือนคนปกติทั่วไปถูกทำให้เป็นอื่นในสายตาของผู้คนจนเป็นที่ติฉินนินทาของชาวเมือง แม้แต่พระราชบิดาของพระยาคันคากเองก็พูดในทำนองเย้ยหยันผู้เป็นบุตรในเรื่องรูปร่างที่อัปลักษณ์ในตอนที่พระยาคันคากอายุได้ 20 ปี เอ่ยปากให้พระราชบิดาหาคู่ให้แต่ด้วยรูปอัปลัษณ์ที่เป็นอื่นทำให้ถูกปฏิเสธ แม้แต่ตัวนางอุดรกุรุทวีปผู้เป็นเทวีเอง ตอนที่พระอินทร์อุ้มมาที่ปราสาทก่อนที่จะมีฉากชิงรักหักสวาท ใช่ว่านางจะหลงรักในรูปอัปลักษณ์คันคาก แต่เป็นเพราะพระยาคันคากถอดรูปคันคากและสวมคาบบุรุษรูปงามที่พระอิทนทร์ทิ้งไว้ก่อนเหาะกลับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์คงเห็นแล้วว่านางอุดรกุรุทวีปผู้เลอโฉมคงรับไม่ได้กับรูปคันคากเป็นแน่แท้จึงทิ้งคาบบุรุษรูปงามไว้ให้
บัดนี้ คันคากเจ้าฮู้แจ้ง แห่งบุญอธิษฐาน
บาไท้แปง คาบคนวางไว้
คาบนั้น คือดั่งภูษาผ้า พระกุมารทงนุ่ง
ถอดไว้ คือเสื้อผ้า สังแท้บ่ต่างกัน
เมื่อนั้น โสมเสลาเจ้า กุมารคันคาก
งามยิ่งย้อย โสมท้าวเทพพรหม
ศรีเสลียวแก้ว นางแมนเทียมพ่าง
ท้าวกอดอุ้ม นางแก้วจูบซม
(พระยาคันคาก : หน้า 5)
ในทางตรงกันข้ามเมื่อพระยาคันคากสวมคาบบุรุษรูปงาม กลับได้รับความชื่นชมยินดีเพียงครั้งแรกที่เห็นโดยเฉพาะพระยาเอกราชผู้เป็นพระราชบิดา และข้าทาสบริวาร ตกตะลึงในความงามของพระยาคันคากที่ถอดรูป จากเหตุการณ์นี้ทำให้พระยาเอกราชยกราชสมบัติและทำพิธีราชาภิเษกครองเมืองให้แก่พระยาคันคาก ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ปางนั้น พระบาทเจ้า อุ้มอ่อนกุมาร
ออย ๆ ซม จูบขวัญคีค้อย
เสนหาแก้ว สายใจเจ้าพ่อ กูเอย
เจ้าสัง มางามยิ่งย้อย พระอินทร์แต้มแต่งลง
ผิดเก่าแท้ บ่คือดั่งคืนหลัง
โสภาผาย ดั่งพรหมลงย้อง
โสมเสลาเนื้อ ผิวผ่างฮูปค่อง พ่อเด
โสมคันคากน้อย ไปลี้อยู่ใส
เจ้าเอาไปไว้ คาบเก่าทางใด
เยียวท่อ อินทร์เอาเมือ สู่ดาวดิงส์ฟ้า
(พระยาคันคาก : หน้า 8)
พระยาเอกราช นางอุดรกุรุทวีป เหล่าข้าราชบิวาร ชาวเมืองอินทปัตนคร รวมถึงพระอินทร์ ได้ตกเป็นเหยื่อของโครงสร้างทางสังคมที่ถูกรหัสทางวัฒนธรรมกำกับให้เลือกข้างพระยาคันคาตอนถอดรูปไว้เป็นอันดับแรก และดูถูกความอัปลักษณ์ด้อยค่าของพระยาคันคากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พระยาคันคากอำพรางตัวในรูปสังขารที่อัปลักษณ์มาเนิ่นนานเป็นระยะเวลา 20 ปี ในช่วงเวลาที่อยู่ในรูปอันอัปลักษณ์นี้พระยาคันคากก็ตกเป็นเหยื่อโครงสร้างทางสังคมที่ผลิตซ้ำทางความคิด ตอกย้ำผ่านความอัปลักษณ์ที่ดูด้อยค่า เชิดชูยกย่องในความงาม ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และมีลักษณะบุคลิกที่เป็นอื่นผิดแปลกไปจากบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกครอบงำด้วยมายาคติความงาม ในทางตรงกันข้ามเมื่อพระยาคันคากได้สวมคราบบุรุษหนุ่มรูปงามที่พระอินทร์ให้ไว้ ความนิยมชมชอบ ยกย่องเชิดชู ในตัวของพระยาคันคากก็ปรากฏให้เห็นโดยทันใด ปรากฏการณ์เหล่านี้มองในระดับโครงสร้างสังคมจะเห็นรหัสทางวัฒนธรรมที่คอยกำกับ สนับสนุนชุดความจริงเหล่านี้เสมอมา และส่งผ่านมายังตัวบทวรรณกรรม
คำว่า “รหัส” (Code) ในทางการสื่อความหมายของวรรณกรรม หมายถึง แบบแผนที่ผู้อ่านทั่วไปใช้สำหรับจับความหมายแฝงที่ซ่อนเล้นในตัวบทวรรณกรรมและวรรณคดีโดยไม่จำเป็นต้องรู้ตัว เพราะถูกกรอบทางโครงสร้างสังคมครอบงำเอาไว้
นพพร ประชากุล (2547 : 147) อธิบายว่า บาร์ตส์ได้ชี้ให้เห็นว่า การสื่อความหมาย ในเนื้อความวรรณกรรมนั้นอิงอยู่กับรหัส 5 ประเภทด้วยกัน โดยที่รหัสแต่ละประเภทอาจทำงานโดยไม่เกี่ยวข้องกันหรืออาจมาซ้อนทับกันในบางรายละเอียดของตัวบท รหัสดังกล่าว ได้แก่
1 รหัสปริศนา (Hermeneutic code) หมายถึง รหัสที่ทำให้องค์ประกอบบางอย่างในเนื้อความสามารถกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้เรื่องราวจะดำเนินต่ออย่างไร
- รหัสเหตุการณ์ (Proairetic code) หมายถึง รหัสที่ทำให้องค์ประกอบบางอย่างในเนื้อความสามารถกระตุ้นความรู้สึกอย่างรู้เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร
- รหัสอรรถลักษณ์ (semic code) เป็นรหัสที่ช่วยให้ผู้อ่านจับความหมายเกี่ยวกับคุณลักษณ์ของตัวละครหรือสถานที่
- รหัสสัญลักษณ์ (symboli code) คำว่า “สัญลักษณ์” (symbol) ในที่นี้มิได้มีความหมายกว้างอย่างที่ บาร์ตส์เคยใช้ใน การวิจารณ์กับสัจธรรม ซึ่งเราคงจำกันได้ว่าในครั้งนั้นเขาได้กล่าวหานักวรรณกรรมศึกษาแนวปฎิฐานนิยมว่าขาดความสามารถที่จะคิดเชิงสัญลักษณ์ได้แต่ยึดติดอยู่กับความหมายตรงตัวของถ้อยคำ ทั้งนี้ ในบริบทดังกล่าว เมื่อบาร์ตส์กล่าวถึงระบบสัญลักษณ์ เขาต้องการหมายถึงระบบของความหมายแฝงหรือความหมายในระดับที่สองโดยทั่วไปนั่นเอง มาในครั้งนี้ คำว่าสัญลักษณ์กินความหมายที่แคบและเฉพาะเจาะจงกว่าเดิมมาก จริงอยู่ในบางกรณี บาร์ตส์ใช้คำดังกล่าวในความหมายสามัญที่เรารู้จักกันดี สัญลักษณ์ในเชิงจิตวิเคราะห์จึงมักมีอะไรที่เรา “คิดไม่ถึง” และแลดูขัดกับสามัญสำนึกอยู่บ้าง
- รหัสวัฒนธรรม (Cultural code) หมายถึง คติความเชื่อเกี่ยวกับมนุษย์ ชีวิต และโลกซึ่งมีลักษณะเป็นความรู้ทั่วไปชุดหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในวัฒนธรรมและถูกดึงมาใช้ค้ำจุนความน่าเชื่อถือของรายละเอียดต่าง ๆ ในเนื้อความของวรรณกรรม “ความรู้” เหล่านี้มีที่มาจากหนังสือเรียน ข่าวสาร คำพูดผู้หลักผู้ใหญ่ สุภาษิต คำพังเพย ตลอดจนวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ซึ่งก็คือวาทกรรมทั้งหลายในสังคมซึ่งประมวลกันเป็นสารานุกรมที่มองไม่เห็น
พระยาคันคากคือคู่ตรงข้ามในลักษณะทางกายภาพของตนเอง เป็นสัญญะของความอัปลักษณ์ และความงาม รูปคันคากที่เป็นตัวแทนของความอัปลักษณ์ได้ติดตัวผ่านการอำพรางและซ่อนตัว คันคากคือเดรัชฉานสัตว์ที่ด้อยค่าลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว ผิวกายหยาบตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งพระยาคันก็ได้ซ่อนตัวอยู่ในรูปคันคากนี้ถึง 20 ปี ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในรูปคันคากถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ หัวเราะเย้ยหยัน จากผู้คนในสังคมแม้กระทั่งจากพระราชบิดา(พระยาเอกราช)ในตอนที่พระยาคันคากอยากแต่งงานจึงได้ให้พระราชบิดาช่วยประกาศหาคู่ แต่ถูกพระราชบิดาปฏิเสธไปเนื่องจากเป็นที่อับอายที่พระยาคันคากอัปลักษณ์โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นที่หัวเราะเยาะของชาวบ้านชาวเมือง ในทางตรงกันข้ามหลังจากที่ได้สวมคราบบุรุษหนุ่มรูปงามผิวพรรณดั่งทองที่พระอินทร์ได้ให้ไว้ซึ่งเป็นตัวแทนของความงาม ก็ได้รับการยกย่องเชิดชูโดยไม่มีข้อกังขาตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น พระราชบิดาได้เห็นความงามในตัวของพระยาคันคากก็ตกตะลึง ชื่นชมยินดี และราชาภิเษกยกราชสมบัติให้พระยาคันคากขึ้นครองเมืองทันทีทันใด นางเทวีผู้เป็นมารดาเมื่อเห็นพระยาคันคากสวมคราบบุรุษหนุ่มรูปงามและได้ถอดคราบคันคากทิ้งไว้ก็ดีอกดีใจ ชาวเมืองจากที่เคยเย้ยหยันก็สดุดีหมอบกราบศิโรราบ แม้แต่นางอุดรกุรุทวีปมเหสีที่พระอินทร์อุ้มสม ก่อนบทเข้าพระเข้านางชิงรักหักสวาท ก็เกิดขึ้นหลังจากที่พระยาคันคากถอดคราบอัปลักษณ์และสวมคราบบุรุษรูปงาม แม้แต่ตัวพระยาคันคากเองเมื่อได้สวมคราบบุรุษรูปงามแล้วก็หลงใหลในความงามของตน เห็นได้จากหลังที่สวมคราบบุรุษรูปงามแล้วพระยาคันคากไม่เคยถอดเลย ที่ผู้คนยังจำพระยาคันคากได้เนื่องจากยังคงใช้ชื่อ “พระยาคันคาก” มาโดยตลอด สัญญะความอัปลักษณ์และความงามคือคู่ขัดแย้ง คือรหัสทางวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างทางสังคมที่ประกอบสร้างขึ้นและส่งผ่านชุดความจริงเหล่านั้นสู่ตัวบทวรรณกรรมเรื่องพระยาคันคาก
คำว่า สัญญะ ได้มีนักภาษาศาสตร์อธิบายและให้ความหมายไว้มากมายตัวอย่างเช่น ความหมายที่ แฟร์ดินองค์ เดอโซสซูร์(Ferdenand de Saussur) นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้อธิบายถึงความหมายของสัญญะว่า สัญญะ คือ สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยอายตนะและเป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งได้ตกลงกันใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องหมายถึงอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้ปรากฎอยู่ในสัญญะนั้น ส่วนที่เป็นเครื่องหมายนี้เรียกว่าเป็น ตัวหมาย (Signifier) และในส่วนที่เป็นสิ่งหมายถึงเรียกว่า ตัวหมายถึง (Signified) (สุกัญญา หาญตระกูล, 2525 : 30)
สัญญะจะต้องประกอบไปด้วยตัวหมายและตัวหมายถึง ซึ่งสองสิ่งนี้จะต้องประกอบกันจะปราศจากตัวใดตัวหนึ่งไปไม่ได้ ตัวหมายนี้ไม่มีตัวหมายถึงมิได้เป็นสัญญะ แต่เป็นเพียงวัตถุที่มีอยู่ เป็นอยู่โดยมิได้หมายถึงอะไร ส่วนตัวหมายถึงที่ไม่มีตัวหมายคือสิ่งที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้ (indicible) สิ่งที่คิดถึงไม่ได้ (impensable) หรือสิ่งที่ไม่มีอยู่ (inexistant) (สุกัญญา หาญตระกูล, 2525 : 30)
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการกำหนดสัญญะของมนุษย์คือการสร้างตัวหมายและตัวหมายถึงไปพร้อม ๆ กัน ตัวหมายคือด้านที่เป็นรูป (รูป หมายถึง ของที่ปรากฏแก่ตา ร่าง ร่างกาย) ของสัญญะซึ่งสัมผัสได้ด้วยอายตนะ เช่น ได้ยินด้วยหู(เสียง) เห็นได้ด้วยตา(ตัวอักษร) ส่วนตัวหมายถึง คือ ด้านที่เป็นนาม (นาม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป เช่น จิตใจคู่กับรูป) (นามธรรม คือ สิ่งของที่ไม่มีรูป คือ รู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจคู่กับธรรม) ซึ่งเป็นความคิดรวบยอดหรือภาพที่เกิดขึ้นในจิต (concept,image,mental) รู้ได้ด้วยใจ ดังนั้นสัญญะจึงเป็นสิ่งที่มีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ในการมีอยู่และการไม่มีอยู่ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างตัวหมายและตัวหมายถึงก็คือความหมาย (signification) นั้นเอง (สุกัญญา หาญตระกูล, 2525 : 22) โบดริยารัดได้วิเคราะห์ระบบของสัญญะในสังคมปัจจุบัน ว่ามีกำเนิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง 3 สิ่งคือ
- ของจริง (reference)
- สัญญะ/ตัวหมาย (signifier)
- ตัวหมายถึง / แนวคิด (signified)
โดยเริ่มจากการที่เรามีวัตถุหรือของจริง (reference) เมื่อเรารู้จักของจริงก็จะมีตัวหมาย (signifier) และตัวหมายถึง (signified) ก็จะตามมา เช่นเรารู้จักกางเกงยีนส์ ซึ่งเป็นของจริง (reference) เมื่อกางเกงยีนส์ยี่ห้อ Levie’sคือสินค้าถูกแปลสภาพเป็นสัญญะ คือตัวหมาย (signifier) ก็จะทำให้เรารู้ตัวหมายถึงหรือแนวคิด (signified)ของกางเกงยีนส์Levie’sคืออารยธรรมตะวันตกและความเป็นคนสมัยใหม่
ผู้เขียนลองใช้แนวความคิดเรื่องสัญญะดังกล่าว มาเขียนออกมาเป็นตารางได้ดังนี้
พระยาคันคาก = มายาคติของความอัปลักษณ์ | |
รูปสัญญะ(signifier)
= คางคก เดรัชฉานสัตว์ ผิวกายหยาบตะปุ่มตะป่ำ |
ความหมายสัญญะ(signified)
= ต่ำต้อย เลวร้าย ไม่เป็นมงคล การถูกลดเกียรติ |
พระยาคันคาก(สวมคราบบุรุษหนุ่มรูปงาม) = มายาคติความงาม | |
รูปสัญญะ(signifier)
= บุรุษหนุ่มรูปงาม ผิวพรรณดั่งทองดุจเทพเทวา |
ความหมายสัญญะ(signified)
= สูงส่ง มีคุณค่า น่ายกย่อง และมีเกียรติ |
จากตารางทำให้เห็นชัดขึ้นในทัศนคติและค่านิยมของสังคมที่จะยกย่องในรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่ารูปลักษณ์ภายใน รูปสัญญะคันคาก เดรัชฉานสัตว์ ผิวกายหยาบตะปุ่มตะป่ำ ในขณะที่อยู่ในรูปคันคากนี้ ผู้คนต่างให้ความหมาย มุมมองต่อพระยาคันคากในด้านลบ ต่ำต้อย เลวร้าย ไม่เป็นมงคล ตลอดจนการถูกลดเกียรติอย่างเนือง ๆ จากทั้งคนใกล้และไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นพระยาเอกราชพระราชบิดาก็ได้ลดเกียรติดูถูกในรูปอันอัปลักษณ์ นางเทวีพระราชมาดาก็ใช่ว่าจะมีความรู้สึกยินดีที่ลูกเกิดมามีรูปเป็นคันคากแต่ด้วยความเป็นหญิงเพศแม่ที่คอยกำกับและควบคุมไว้ ทำให้แสดงออกได้ไม่มาก เหตุการณ์ที่ทำให้ทราบว่านางเทวีก็ตกเป็นเหยื่อโครงสร้างทางสังคมด้านความงามก็คือ นางเทวีรู้สึกโล่งใจชื่นใจที่พระยาคันคากได้ถอดคราบอัปลักษณ์ทิ้ง ดังตัวอย่าง
บัดนี้ อัศจรรย์ยิ่งแท้ บุญเกิดกุมาร
บ่คึดว่า สิแปงกายา คาบคีงวางไว้
บาบุญท้าว เป็นโสมคันคาก
มาบัดนี้ ท้าวได้ถอดคาบไว้ เห็นแล้วชื่นกะใจ แม่แล้ว
(พระยาคันคาก : หน้า 8)
รูปสัญญะพระยาคันคาก(สวมคราบบุรุษหนุ่มรูปงาม) คือมายาคติความงาม ความหมายสัญญะ สูงส่ง มีคุณค่า น่ายกย่อง และมีเกียรติ ในขณะที่พระยาคันคากถอดคราบคันคากและสวมคราบบุรุษหนุ่มรูปงาม ผู้คนต่างให้ความหมายที่ต่างออกไป มุมมองเดิมที่ดูถูก ลดเกียรติ เปลี่ยนไปยกย่องเชิดชูเพียงแค่การเปลี่ยนรูปสัญญะจากคันคากมาเป็นบุรุษหนุ่มรูปงาม พระราชาบิดาทำพิธีราชภิเษกยกราชสมบัติให้ครอง พระราชมารดานางเทวีรู้สึกชื่นใจมีความสุขที่พระยาคันคากได้ถอดคราบอัปลักษณ์ทิ้ง ได้อภิเษกสมรสกับนางอุดรกุรุทวีป ชาวเมืองหมอบกราบศิโรราบโดยดุษฎี
พระยาคันคากคือผู้เปิดเผยรหัสทางวัฒนธรรมที่ซ่อนเร้นอำพรางอยู่ในโครงสร้างทางสังคมในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำจากทัศนคติ วิธีคิดที่ซ่อนอยู่ในตัวบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือสมาชิกหนึ่งในสังคม ซึ่งต่างก็มองพระยาคันคากผ่านรูปลักษณ์ภายนอกและเลือกที่จะยอมรับปฏิบัติต่อรูปลักษณ์ภายนอกมากว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการยอมรับในคราบความงามของพระยาคันคาก ทำให้เห็นทัศนคติ วิธีคิด ของผู้คนที่หลงใหลในคุณค่าผ่านความงดงามมากกว่าสิ่งอื่นใด สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่การสร้างชุดความจริงหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม จนกลายเป็นโครงสร้างทางสังคม ในประเด็นนี้เป็นการเสนอมุมมองการสื่อความหมายในตัวบทวรรณกรรมว่าอะไรเป็นตัวชี้นำให้ผู้คนในสังคมมีทัศนะคติที่เป็นลบต่อความอัปลักษณ์ในตัวพระยาคันคาก ในทางตรงกันข้ามอะไรเป็นตัวชี้นำหรือกระตุ้นให้ผู้คนหลงใหลในความงดงามของพระยาคันคากในคราบของบุรุษหนุ่มรูปงาม ทั้งนี้ผู้เขียนได้นำทฤษฎีของสัญศาสตร์มากรอบแนวคิด และตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ชุดความจริงที่ไหลเวียนในสังคมถูกประกอบสร้างจากการสื่อความหมายทางสัญญะของคู่ตรงข้าม ความอัปลักษณ์/ความงดงาม ที่ซ่อนอยู่ในตัวบทวรรณกรรม ถ้าเป็นดังที่ตั้งข้อสังเกตไว้เบื้องต้นนั้นแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างสังคมนั้นมีบทบาทต่อการสื่อความหมายของสัญญะในวรรณกรรม จนกลายเป็นชุดความจริงหนึ่งที่ไหลเวียนและมีการนำใช้จริงของผู้คนในสังคม
คันคาก/พระยาแถน : การสื่อความหมายและการลดทอนอำนาจผู้ที่เหนือว่า
ความเชื่อของกลุ่มวัฒนธรรมสังคมอีสาน – ล้านช้าง เชื่อกันว่าผีแถนนั้นเป็นผีดี หรือที่เรียกว่าเทพมากกว่าที่จะเรียกผี ทำให้ความเชื่อนี้กลายเป็นกรอบโครงสร้างทางสังคมว่าแถนเป็นผู้สร้างโลก สร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ ให้แก่โลก ดังที่ ธวัช ปุณโณทก (2530 : 371 – 372) กล่าวในลักษณะที่สอดคล้องว่า ในความเชื่อของสังคมอีสานนั้น เชื่อว่าผีที่ยิ่งใหญ่กว่าผีทั้งหลายนั้นคือ ผีแถน มีลักษณะเป็นเทพมากกว่าผีนั้นคือผีแถนเป็นผู้สร้างโลก สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้แก่โลกดังที่ปรากฏอยู่ในนิทานขุนบรม และยังเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีการติดต่อกับแถนได้ในสมัยก่อน เช่น อาจจะร้องขอให้พระยาแถนช่วยเหลือดับทุกข์เข็ญแก่มนุษย์โลกได้ แต่ภายหลังพระยาแถนอดทนต่อความรำคาญของพวกมนุษย์ไม่ไหวจึงไม่ยอมให้ติดต่ออีก นอกจากนี้ชนชั้นผู้ปกครองมีเชื้อสายสืบมาจากแถนอีกด้วย
พระยาคันคากผู้ครองนครในเมืองลุ่ม (โลกมนุษย์) เป็นภาพผู้ที่ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่สุขดั่งเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า ด้วยบุญบารมีทำให้ผู้คนไม่อดอยาก มีของทิพย์ไม่ว่าจะเป็นข้าวทิพย์ ผ้าอาภรณ์ทิพย์ ยกย่องสรรเสริญต่อพระยาคันคากจนทำให้ผู้คนในเมืองลุ่มละเลยหน้าที่ปฏิบัติที่ต้องสักการบูชา ไม่ให้ความเคารพยำเกรงต่อแถนผู้เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในเมืองฟ้า จนในที่สุดพระยาแถนก็โกรธเป็นอย่างมากที่พวกคนในเมืองลุ่มละเลยสิ่งที่เคยปฏิบัติต่อตนจึงสั่งให้พญานาคหยุดเล่นน้ำ ส่งผลให้ฝนไม่ตก แห้งแล้งทั่วสารทิศ ผู้คนอดอยากเดือดร้อนเป็นอย่างมาก พระยาคันคากผู้ครองนครในเมืองลุ่มจึงหาสาเหตุที่ทำให้ฝนไม่ตก จึงเดินทางไปยังเมืองบาดาลจนได้คำตอบจากพญานาคว่าพระยาแถนเป็นผู้สั่งไม่ให้ไปเล่นน้ำจึงทำให้ฝนไม่ตกลงสู่เมืองมนุษย์เมื่อเป็นเช่นนั้น พระยาคันคากจึงถามทางขึ้นไปเมืองแถนเพื่อไปแก้ไขปัญหานี้โดยการยกพลรบกับแถนบนเมืองฟ้า
เมื่อนั้น พระบาทเจ้า ฟังพากย์นาโค
พญาแถนผิดฮีด ปฐมหลังนั้น
ยังว่า เป็นแถนฟ้า คองบูฮานสังบ่จื่อจำนั้น
สังไลละฮีดบ้าน คองเฒ่าแต่ปฐม แท้นอ
ฮาบ่ได้ไปยาดบ้าน ซิงนั่งเมืองแถน ที่พุ้น
เฮาทำตามสมภารเพ็ง อยู่เสวยเมืองสร้าง
สังมาขัดขีนข้อ สะหาวเบือนบังเบียด กูนี้
สังว่า มาห้ามฟ้าฝนไว้ บ่แม่นคอง แท้ดาย
พระกล่าวแล้ว ถามนาคนาโค
ทางเมือเมืองแถน ที่ใดเดเจ้า
(พระยาคันคาก : หน้า 16)
ที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นว่าเริ่มมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระยาคันคากกับพระยาแถน ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกัน รูปสัญญะคันคาก/เมืองลุ่ม คือการสื่อความหมายในฐานะชนชั้นล่างที่ด้อยกว่าพระยาแถนทุกประการ พระยาแถน/เมืองฟ้า ความหมายสัญญะคือชนชั้นสูงผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงหรือเหนือกว่า เนื่องจากแถนคือความเชื่อดั้งเดิมที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในอดีตเป็นอย่างมาก แถนคือภาพแทนของเทพไท้ผู้สร้าง ปกปักรักษา ดูแลคนเมืองลุ่ม คันคากกับพระยาแถนจึงมีความแตกต่างและเป็นคู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
ในเหตุการณ์ที่พระยาแถนเคียดแค้นที่คนเมืองลุ่มละเลยไม่ปฏิบัติต่อแถน ไม่ยำเกรงอย่างที่เคยเป็นมา ในกลับกันหันไปเคารพบูชาพระยาคันคากที่เป็นเพียงมนุษย์และชนชั้นที่ต่ำกว่าแถน แถนจึงไม่ยอมให้นาคมาเล่นน้ำที่เมืองฟ้า เกิดสภาวะแห้งแล้งฝนไม่ตกคนเมืองลุ่มเดือดร้อน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่การสู้รบต่อรองทางอำนาจระหว่างพระยาคันคาก สรรพชีวิตในเมืองลุ่ม กับ พระยาแถน เทพไท้เมืองฟ้า คันคากยกพลรบไปต่อสู้กับพระยาแถนบนฟ้านั้นเป็นเหตุการณ์ที่ผิดแปลกไปจากปกติ เนื่องจากชนชั้นที่ต่างกันระหว่างโลกเมืองลุ่มกับสวรรค์ชั้นฟ้าซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ด้วยความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนในเมืองลุ่มท้ายที่สุดก็ต้องต่อสู้และตอบโต้เพื่อความอยู่รอดจากการกดขี่ข่มเหงจากชนชั้นที่สูงกว่า ในตัวบทได้บรรยายเหตุการณ์การพระยาคันคากยกพลรบ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็คือ “คางคกยกรบ” เป็นฉากที่สรรพชีวิตในเมืองลุ่มตั้งแต่แมลงตัวเล็ก ๆ มด มอด ปลวก ภู่ผึ้ง ไปจนถึงสรรพสัตว์ อีเห็น แร้ง กา ลิงค่างบ่างชะนี เสือ หมี เสริมทัพด้วยพญาครุฑ พญานาค บัญชาการรบโดยพระยาคันคาก เตรียมรบทับจับศึก สร้างทางขึ้นไปเมืองแถนโดนครุฑ นาค เอาภูเขามาต่อกัน พลปลวกเอาดินชุ่มน้ำมาถมต่อกันใช้เวลานานกว่า 3 ปีและกองทัพพระยาคันคากใช้เวลากรีธาทัพ 1 เดือนจึงถึงเมืองแถน
ภาพคู่ตรงข้าม | ||
รูปสัญญะ | เมืองลุ่ม/คันคาก/มอด/มด/ปลวก | เมืองฟ้า/แถนหลวง/แถนชั้นรอง |
การสื่อความหมายสัญญะ | ชนชั้นต่ำ มาจากดิน ชนชั้นใต้การปกครอง ความด้อยค่า ไม่มีคุณค่า | ชนชั้นสูง เมืองฟ้า พลังอำนาจ ชนชั้นปกครอง ความมีค่า |
จากตารางข้างต้น แสดงให้เห็นถึงคู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างเมืองลุ่ม/เมืองฟ้า คันคาก/แถนหลวง สรรพสัตว์ มด มอด ปลวก/แถนฟ้าชั้นรอง ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบในครั้งนี้กองทัพแถนผู้มีอำนาจที่เหนือกว่าต้องได้รับชัยชนะเพราะคู่ต่อสู้เป็นเพียงชนชั้นต่ำ ชนชั้นใต้การปกครองจากเมืองลุ่ม แต่ศึกครั้งนี้กลับเป็นฝ่ายของพระยาคันคากที่เหนือว่า ชนชั้นต่ำจากเมืองลุ่มสามารถต่อสู้กับชันชั้นสูงจากเมืองฟ้า ความต่ำเตี้ยเรี่ยดินของขบวนศึกพระยาคันคาก ไม่ว่าจะเป็น มด มอด ปลวก สรรพสัตว์ เส้นทางที่ใช้เชื่อมระหว่างเมืองลุ่มกับเมืองฟ้าก็คือดินจากเมืองลุ่มที่ถมจนสูงเสียดฟ้าใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ ภาพสัญญะเหล่านี้คือตัวแทนชนชั้นที่ต่ำ อยู่ในสถานะที่ด้อยและเป็นรองแต่สามารถปฏิเสธ ตอบโต้ ต่อรองทางอำนาจจากชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครอง ซึ่งสัญญะของแถน การสื่อความหมายคือ ชนชั้นสูง ชนชั้นปกครอง จากเมืองฟ้า พลังอำนาจ เพียงแค่การยกทัพของคันคากมาต่อกรกับทัพแถนหลวงถึงชั้นฟ้าเมืองแถนก็เป็นลดทอนอำนาจของแถนหลวงลงไปอย่างมาก ในหลาย ๆ เหตุการณ์ตัวบทพยายามชี้ให้เห็นคู่ตรงข้ามอยู่เนือง ๆ ระหว่างสัญญะ ดิน/ฟ้า ชั้นต่ำ/ชั้นสูง การลดทอนอำนาจของพระยาแถนจะชัดเจนมากขึ้นในฉากการสู้รบระหว่างกองทัพพระยาคันคากเมืองลุ่มกับกองทัพแถนเมืองฟ้า เปิดฉากรบโดยพระยาคันคากแกว่งธนูทำลายเมืองแถนชั้นนอกพังทลายราบเป็นหน้ากลอง ชาวแถนแตกตื่น และประกาศตนข่มอำนาจแถนว่า ข้าคือพระยาคันคากคนเดินดินไม่เกรงกลัวอำนาจแถน ดังตัวบทกล่าวว่า
กูก็ลือในชุมภู ผู้เดียวพระองค์เจ้า
ชื่อว่า พญาหลวงแท้ คนเดียวคันคาก จิงแล้ว
ลืออาจเจ้า คันคากพญาหลวง
คนเดินดิน บ่หย่อนขามพอน้อย
(พระยาคันคาก : หน้า 16)
เมื่อพระยาแถนได้ฟังเช่นนั้นก็โกรธยิ่งนักจะกำจัดกองทัพคันคากด้วยอำนาจของแถนให้พังทลายลงไป จึงได้จัดกองทัพชาวแถนเต็มกำลังนำโดยแถนหลวงหวังจะชนะศึกครั้งอย่างง่ายดายเพียงเพราะศัตรูคู่ต่อกรเป็นเพียงแค่ชาวเมืองลุ่มใต้อาณัติ กองทัพพระยาคันคากเปิดฉากทำให้ชาวแถนหวาดหวั่นสั่นกลัวก็คือ กองทัพกบเขียด ผึ้ง แตน ต่อ มากมายมหาศาลเป็นดังภูเขาสูงใหญ่ กองทัพพระยาคันคากสู้รบกับกองทัพพระยาแถนหลายวันคืนไม่มีใครพ่ายแพ้หรือชนะด้วยอาคมฤทธิ์เดชที่เสมอกัน เป็นภาพการต่อรองและลดทอนอำนาจของชนชาวเมืองลุ่มที่ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของแถนที่ผิดฮีตคองอีกต่อไป เมื่อหาผู้ชนะไม่ได้พระยาแถนจึงท้ารบโดยการชนช้างกับพระยาคันคาก พระยาคันคากใช้อุบายให้พระยามอดหัวแข็งไปกัดทำลายศาสตราวุธ ขอช้าง หอก ง้าว และให้พญานาคไปหลบอยู่ท้ายช้างเตรียมบ่วงบาศเมื่อเห็นแถนเพลี่ยงพล้ำก็จับมัด และก็เป็นไปตามแผน ท้ายที่สุดพระยาแถนหลวงพ่ายแพ้ต่อพระยาคันคาก ถูกจับมัดรัดคอลากดึงขึงไปกับพื้น ภาพของการต่อรองและลดทอนอำนาจคือภาพที่แถนหลวงปราชัย แถนยกมือกราบไหว้มอบเมืองให้แก่พระยาคันคาก พระยาคันคากสั่งสอนแถนให้อยู่ในศีลกินในธรรมปกครองไพร่ฟ้าชาวเมืองลุ่มให้อยู่ดีกินดี อย่าลืมฮีตเก่าคองหลังเมื่อถึงฤดูเพาะปลูกฝนน้ำฟ้าอย่าให้ขาด พระยาแถนหลวงรับเอาคำสอนก้มกราบไหว้ต่อพระยาคันคาก
ภาพการเป็นผู้กระทำของชาวเมืองลุ่มที่มีต่อชาวแถนฟ้า คือการต่อรองและลดทอนอำนาจของแถน กองทัพคันคากช่วงชิงต่อรองและลดทอนอำนาจได้อย่างสิ้นเชิง
จากที่กล่าวมาข้างต้นเห็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสรรพสัตว์(ชาวเมืองลุ่ม)และชนชั้นปกครองที่มีอำนาจเหนือกว่า(ชาวเมืองแถน)ที่เคยโอบอุ้ม เคยให้ชีวิต เคยให้น้ำเพื่อการดำรงอยู่ แต่มาครั้งนี้กลับไม่เป็นไปตามจารีตฮีตคองเดิม ไม่ยอมให้นาคเล่นน้ำจึงเกิดความแห้งแล้งสรรพสัตว์ต่างเดือดร้อน จนต้องรวมตัวกันหาวิถีทางต่อสู้กับชนชั้นที่สูงกว่า ภาพการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างคนเมืองลุ่มกับคนเมืองฟ้าเพื่อทวงคืนความถูกต้องเพื่อความอยู่รอดจากชนชั้นปกครอง ผ่านสัญญะ การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคู่ตรงข้ามที่ซ่อนอยู่ในตัวบทวรรณกรรม จนนำไปสู่การตีความผ่านสัญลักษณ์เพื่อหาความหมาย คู่ตรงข้ามที่ปรากฏอย่างเด่นชัดก็คือ พระยาคันคากซึ่งเป็นภาพของกลุ่มคนที่มาจากเมืองลุ่มที่มีอำนาจด้อยกว่า ต่อสู้ช่วงชิง ต่อรอง ลดทอนอำนาจกับพระยาแถนซึ่งเป็นภาพของกลุ่มคนเมืองฟ้าที่มีอำนาจที่สูงกว่า ้ เมื่อเกิดการกดขี่ ใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง การลดทอนอำนาจชนชั้นปกครองจากกลุ่มชนชั้นที่ด้อยกว่าก็ปรากกฏขึ้น เพราะสัญชาตญาณความอยู่รอดที่ต้องดิ้นรน เมื่อพระยาคันคากและสรรพสัตว์ได้ทำศึกกับพระยาแถน ทำให้เห็นการต่อรอง ลดทอนอำนาจ ตอบโต้ และปฏิเสธอำนาจของชนชั้นปกครอง จนนำไปสู่ชัยชนะของกลุ่มชนชั้นที่ด้อยกว่าทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดและดำรงอยู่
วรรณกรรมเรื่องพระยาคันคากเป็นวรรณกรรมของกลุ่มคนวัฒนธรรมอีสาน – ล้านช้าง ได้รังสรรค์ขึ้น ถ้าตีความในระดับที่ลึกลงไปจะเห็นโครงสร้างทางสังคมในเรื่องของการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสมของชนชั้นปกครองที่มีต่อผู้ใต้การปกครอง ลักษณะโครงสร้างทางสังคมเรื่องอำนาจที่ไม่เหมาะสมในวรรณกรรมเรื่องพระยาคันคากถูกประกอบสร้างผ่านสัญญะแห่งการต่อสู้ของคู่ตรงข้าม(ผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่า/ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า) ภาพดังกล่าวเป็นการผลิตซ้ำทางความคิดเรื่องการต่อสู้กับอำนาจชนชั้นปกครองที่ไม่เหมาะสม เมื่อใดที่ถูกกดขี่จากอำนาจที่ไม่เหมาะสม ผู้คนในสังคมก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิเสธ ต่อรอง และตอบโต้เพื่อความอยู่รอดและถูกต้อง วรรณกรรมเรื่องพระยาคันคากได้เผยให้เห็นถึงชุดความจริงเหล่านี้ เป็นปรากฏที่เกิดขึ้นและไหลเวียนอยู่ในโครงสร้างทางสังคมอยู่เนือง ๆ และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
สรุป
การศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องพระยาคันคาก ฉบับการปริวรรติของพระอริยานุวัตร เขมจารี ผลการศึกษาพบว่า 1. พระยาคันคากมีการซ่อนและอำพรางตัวตัวเองผ่านรูปร่างที่อัปลักษณ์เพื่อความปลอดภัย จนนำไปสู่การตอกย้ำซ้ำความในมายาคติความงามต่อทัศนคติและการเลือกปฏิบัติต่อพระยาคันคาก พระยาคันคากคือผู้เปิดเผยรหัสทางวัฒนธรรมที่ซ่อนเร้นอำพรางอยู่ในโครงสร้างทางสังคมในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำจากทัศนคติ วิธีคิดที่ซ่อนอยู่ในตัวบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือสมาชิกหนึ่งในสังคม ซึ่งต่างก็มองพระยาคันคากผ่านรูปลักษณ์ภายนอกและเลือกที่จะยอมรับปฏิบัติต่อรูปลักษณ์ภายนอกมากว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการยอมรับในคราบความงามของพระยาคันคากมากกว่ารูปอัปลักษณ์ ทำให้เห็นทัศนคติ วิธีคิด ของผู้คนที่หลงใหลในคุณค่าผ่านความงดงามมากกว่าสิ่งอื่นใด สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่การสร้างชุดความจริงหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม จนกลายเป็นโครงสร้างทางสังคม 2. การสื่อความหมายทางสัญญะของพระยาคันคากและพระยาแถนกับการต่อสู้และต่อรอง ลดทอนอำนาจของพระยาแถน เป็นการผลิตซ้ำทางความคิดเรื่องการต่อสู้จากอำนาจชนชั้นปกครอง เมื่อใดที่ถูกกดขี่จากอำนาจที่ไม่เหมาะสม ผู้คนในสังคมก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและถูกต้อง วรรณกรรมเรื่องพระยาคันคากได้เผยให้เห็นถึงชุดความจริงเหล่านี้ เป็นปรากฏที่เกิดขึ้นและไหลเวียนอยู่ในโครงสร้างทางสังคมอยู่เนือง ๆ