

นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์
เฮอร์มานน์ เฮสเส เขียน
สดใส แปล
๔๙๖ หน้า ราคา ๕๕๐ บาท
พิมพ์ครั้งที่ ๕ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
__________
นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ ว่าด้วยเรื่องของครูและศิษย์ ที่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นเพื่อน ในความเป็นเพื่อนมีความเสมอภาค ทั้งนาร์ซิสซัส โกลด์มุนด์ ต่างไม่มีอะไรที่เหมือนกัน นาร์ซิสซัสเรียนรู้ชีวิตจากโกลด์มุนด์ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้เปิดโลกให้กับโกลด์มุนด์
“เราไม่ได้ถูกกำหนดมาให้ไปด้วยกัน เช่นเดียวกับที่ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ไม่ได้มีธรรมชาติที่จะไปด้วยกัน หรือทะเลกับแผ่นดิน เพื่อนรัก เราคือดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เราคือทะเลกับแผ่นดิน จุดหมายของเราไม่ใช่การเป็นซึ่งกันและกัน แต่เราจะต้องรู้จักกันและกัน เราจะต้องเรียนรู้เพื่อจะได้เห็นและให้เกียรติแก่สิ่งที่เราเป็น เราต่างเป็นส่วนตรงข้ามของกันและกัน และสองสิ่งนี้แหละคือความสมบูรณ์” (หน้า ๖๑)
นาร์ซิสซัส เป็นตัวแทนฝ่ายหยาง ผู้มอบชีวิตจิตใจให้ศาสนจักร อุทิศตนเป็นสมณะ เป็นผู้มีปัญญาและถนัดใช้ความคิด ล่วงรู้และอ่านชะตาชีวิตของผู้อื่น โลกที่นาร์ซิสซัสแสวงหา เปรียบเสมือนการเดินทางภายในจิตใจ ค้นหาความสงบแก่จิตวิญญาณ
โกลด์มุนด์เป็นตัวแทนฝ่ายหยิน ผู้มีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน ใช้หัวใจนำทางชีวิต ออกเดินทางเพื่อเรียนรู้โลก ชีวิตพเนจรของโกลด์มุนด์ มีทั้งเรื่องน่าตื่นเต้นน่าติดตาม ระหว่างทางพบเจอทั้งสุขและโศก มีความรื่นรมย์แห่งชีวิตเป็นเพื่อนเดินทาง ขณะเดียวกันความตายของเพื่อนมนุษย์ก็ทำให้โกลด์มุนด์ได้เรียนรู้สัจธรรมแห่งชีวิต
นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เห็นความงามในความรัก เห็นมิตรภาพอันยั่งยืนของเพื่อน ไม่มีสิ่งใดมาทำลายมิตรภาพของคนทั้งสองได้ ไม่ว่าจะห่างกันนานเพียงใด ทั้งสองยังระลึกถึงกันในความคิดคำนึงเสมอ การเดินทางของโกลด์มุนด์ เปรียบเสมือนการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลก เรียนรู้การมีอยู่ของชีวิต เขาใช้หัวใจนำทางไปสู่ความรักของเพื่อน ความรักแบบคนรัก ความรักของเพื่อนมนุษย์ ทำให้เราตระหนักถึงการมีอยู่ของชีวิต การสยบยอมต่อความรักและไม่รัก การยอมรับ การช่วยเหลือ และเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในฐานะเพื่อนร่วมโลก
หนังสือเล่มนี้ ทำให้เราหันมาสำรวจโลกทั้งภายในและภายนอก สิ่งที่เราเป็นอยู่ และปลายทางแห่งชีวิต แม้บางขณะเราโหยหาอิสรภาพ แต่มิอาจกางปีก โกลด์มุนด์ได้ทำหน้าที่เหล่านั้นทดแทนแล้ว
“ทำไมคนเราจึงรู้อะไรน้อยเหลือเกิน ทำไมเราจึงไม่อาจพูดกับดอกไม้ แต่จะเอาอะไรกันนักหนาเล่า ในเมื่อมนุษย์ด้วยกันเองก็ยังยากที่จะพูดให้เข้าใจกัน แม้ในมนุษย์ด้วยกัน จะมีก็แต่ผู้โชคดีเท่านั้น ที่จะได้พบมิตรภาพพิเศษที่งดงามจริง ๆ มิตรภาพที่เพียบพร้อม โชคดีที่สุด ความรักไม่ต้องการคำพูด ไม่อย่างนั้นคงจะมีแต่การเข้าใจผิดและความเขลาไร้สาระ” (หน้า ๑๔๒)
____________________